วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วิธีการปลูกพืช

วิธีการปลูกพืช
    วิธีการปลูกพืชแบ่งเป็นวิธีใหญ่ๆ ได้ 3 วิธี คือ การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง (direct seeding) การปลูกโดยวิธีย้ายกล้าปลูก (transplanting) และการปลูกโดยใช้ส่วนเจริญของพืช (vegetative structure planting)
    1 การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง
    การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรงอาจกระทำได้โดยวิธีการดังนี้คือ
    1) การหว่าน (broadcasting) วิธีนี้เป็นวิธีที่เก่าแก่ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรใช้กับพืชบางชนิดซึ่งเมล็ดพันธุ์ราคาถูก เพราะการปลูกโดยวิธีนี้จะสิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์มาก ตัวอย่างเช่น ข้าวนาหว่านจะใช้เมล็ดในอัตราปลูก 1-2 ถังต่อไร่ หรือการปลูกข้าวฟ่างแบบหว่าน จะใช้เมล็ดอัตราปลูกประมาณ 3-4 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกด้วยวิธีนี้เกษตรกรจะต้องมีความชำนาญในการหว่าน มิเช่นนั้นจะทำให้ต้นกล้าที่งอกขึ้นมาแน่นเกินไป จนทำให้ต้นพืชแคระแกรน หรือทำให้โรคและแมลงเข้าทำลายได้ง่าย แต่ถึงกระนั้น เกษตรกรก็พยายามแก้ไขโดยวิธีการถอนแยก (thinning) เพื่อจัดระยะปลูกให้เหมาะสมจึงจะได้ผล
    2) การปลูกเป็นแถว (row planting) การปลูกโดยวิธีนี้มีการจัดระยะปลูกค่อนข้างแน่นอน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีด้วยกันคือ
        2.1) การโรยเป็นแถว (drill planting) การปลูกแบบนี้มีการจัดระยะระหว่างแถวแน่นอน แต่ระยะระหว่างต้นไม่แน่นอน เช่น การปลูกข้าวฟ่าง หรือพืชผักบางชนิด การโรยเมล็ดในแถวถี่ห่างเท่าไรขึ้นกับอัตราปลูกที่ต้องการ หลังจากต้นกล้างอกขึ้นมาแล้ว จึงทำการถอนแยกให้เหลือจำนวนต้นที่ต้องการ เช่น การปลูกข้าวฟ่างโดยโดยเป็นแถวจะถอนแยกให้เหลือ 10 ต้นต่อแถวยาว 1 เมตร
        2.2) การหยอดเป็นหลุม (hill planting) วิธีนี้จะมีการกำหนดระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวแน่นอน เช่น การปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง แตงโม เป็นต้น แต่ทั้งนี้เมล็ดที่หยอดในแต่ละหลุมขึ้นอยู่กับอัตราปลูกที่ต้องการ ซึ่งปกติจะเผื่อไว้กรณีที่เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำหรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม และหลังจากต้นกล้างอกขึ้นมาแล้วจึงถอนแยกให้เหลือจำนวนต้นในแต่ละหลุมตามที่ต้องการ 

 ปัจจัยที่ต้องคำนึงในการปลูกด้วยเมล็ด มีดังต่อไปนี้
    1) ความลึกของการปลูก (depth of planting) โดยปกติแล้วขนาดของเมล็ดจะมีความสัมพันธ์กับความลึกในการปลูกด้วย คือเมล็ดขนาดใหญ่มีอาหารสำรองมากกว่าเมล็ดขนาดเล็ก ดังนั้นต้นกล้าที่งอกออกมาย่อมมีสมรรถภาพในการยืดตัวได้ดีกว่า และสามารถงอกแทงโผล่ผิวดินออกมาได้ดีกว่าเมล็ดขนาดเล็ก นอกจากนี้ชนิดของการงอกก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับความลึกในการปลูกด้วย คือเมล็ดที่มีการงอกแบบไฮโปจีล (hypogeal) สามารถปลูกได้ลึกกว่าเมล็ดที่มีการงอกแบบอีปิจีล (epigeal) เพราะการงอกแบบอีปิจีลนั้นต้นกล้าต้องชูใบเลี้ยง (cotyledon) ขึ้นมาเหนือดิน นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้วลักษณะของดินก็มีส่วนในการพิจารณาถึงความลึกในการปลูกด้วย คือถ้าดินร่วนโปร่งสามารถหยอดเมล็ดได้ลึกกว่าในสภาพดินแน่น
    2) การสัมผัสของเมล็ดกับดิน (seed-soil contact) นับว่าเกี่ยวข้องกับการเตรียมดิน และสำคัญมากกับการปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง คือต้องพยายามทำให้เมล็ดได้สัมผัสกับดินเพื่อสามารถดูดน้ำจากดินมาใช้ในการงอกได้ นั่นคือต้องอย่าทำให้ดินเกาะกันเป็นก้อนใหญ่ ต้องพยายามย่อยดินให้ร่วนซุย แต่ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ดินแน่นด้วย
    3) อัตราปลูกและการกระจายตัวของต้นพืชที่เหมาะสม (proper rate and distribution) ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออัตราปลูกและการกระจายตัวของพืชมีดังต่อไปนี้
        3.1) เปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ด เมล็ดพันธุ์ที่ดีที่มีเปอร์เซ็นต์ความงอกและความบริสุทธิ์สูงจะเป็นตัวที่ช่วยให้จำนวนต้นกล้าที่งอกขึ้นมาต่อหน่วยพื้นที่เป็นไปตามที่ต้องการ
        3.2) ความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของทรงพุ่ม พืชที่มีทรงพุ่มใหญ่การปลูกจะใช้อัตราปลูกต่ำ เช่นเดียวกับพืชที่มีการแตกกอหรือมีทรงพุ่มแผ่ออกก็ใช้อัตราปลูกต่ำเช่นกัน ยกเว้นในบางพืชเช่น ปอแก้ว ปอกระเจา ที่ต้องปลูกให้ถี่เพื่อลดการแตกกิ่งแขนงตามลำต้น
        3.3) อิทธิพลของสภาพแวดล้อม นับว่ามีส่วนสำคัญมากโดยเฉพาะชนิดของดินที่แตกต่างกัน ในสภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์และอุ้มน้ำได้ดีจะช่วยให้พืชเจริญได้เป็นปกติได้อัตราปลูกที่ต้องการ ไม่ควรสูงนัก แต่ในกรณีที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและอุ้มน้ำได้ไม่ดีจะมีผลทำให้พืชแคระแกรนการแตกกอน้อย ดังนั้นในสภาพเช่นนี้ควรเพิ่มอัตราปลูกให้สูงขึ้นเพื่อให้พืชขึ้นคลุมทั่วพื้นที่และได้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่สูง นอกจากนี้ลักษณะของดินและลมฟ้าอากาศ และวันปลูก (planting date) นับว่ามีอิทธิพลมาก เกษตรกรในประเทศไทยปลูกพืชโดยอาศัยน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการกำหนดวันปลูกให้เหมาะสมกับฤดูกาลจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะจะมีผลถึงการใช้อัตราปลูกและผลผลิตที่จะได้รับ ตัวอย่างเช่น ข้าวโพดที่ปลูกเร็วในช่วงฤดูฝน และปลูกด้วยอัตราปลูกสูงให้ผลผลิตสูงกว่าและมีจำนวนต้นที่ปราศจากฝักน้อยกว่าการปลูกล่าออกไป
    4) เวลาในการปลูก การปลูกพืชตามปกติแล้วควรให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมมากที่สุด เพราะพืชต้องการการเจริญเติบโตช่วงหนึ่งทางลำต้น คือมีการแตกกิ่งก้านและสร้างใบให้มากที่สุดเพื่อสังเคราะห์แสงและสะสมอาหารได้เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลไปถึงการให้ผลผลิตที่สูงขึ้นต่อไปด้วย ดังนั้นการปลูกพืชจึงไม่ควรปลูกให้ช้ากว่าช่วงการปลูกที่เหมาะสม
    

 การปลูกโดยวิธีย้ายกล้าปลูก


    การปลูกโดยวิธีย้ายกล้าปลูกประกอบด้วยขั้นตอน 2 ขั้นตอนที่สำคัญคือ การเตรียมกล้าและการย้ายปลูก
    1) การเตรียมกล้า
    การเตรียมกล้าเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะเป็นการทำให้ต้นกล้าแข็งแรงเมื่อย้ายปลูกไปในแปลงปลูกและทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี มีการเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างรวดเร็ว การเตรียมกล้าจำเป็นต้องเพาะเมล็ดก่อน ซึ่งมี 2 วิธีใหญ่ๆ คือ
        1.1) การเพาะกล้าในแปลงเพาะ (seedbed method) เป็นการเพาะเมล็ดในแปลงเพาะที่เตรียมไว้อย่างดี ซึ่งวิธีการเตรียมแปลงเพาะขึ้นอยู่กับชนิดของพืช เช่น การตกกล้าสำหรับปลูกข้าวนาดำ ก็ต้องเตรียมที่สำหรับการหว่านเมล็ดข้าวโดยเฉพาะ ซึ่งผิดกับการปลูกยาสูบซึ่งต้องยกแปลงเพาะขึ้นมาเป็นรูปแปลง แต่ทั้งนี้แปลงที่เพาะกล้าควรจะมีความอุดมสมบูรณ์ของดินสูง ปราศจากเชื้อ เมื่อเตรียมแปลงเพาะให้เรียบร้อยแล้วจึงนำเมล็ดมาหว่านหรือโรยเป็นแถว จากนั้นจึงรดน้ำแล้วหาวัสดุมาคลุมหรือพลางแสง ถ้าต้นกล้าที่งอกขึ้นมาแน่นเกินไป ควรทำการถอนแยกออกบ้าง
        1.2) การเพาะกล้าในกระบะ (seedbox method) วิธีนี้ใช้กับพืชที่ไม่ทนทานต่อสภาพ การถอนย้ายกล้าแบบล้างราก (bare root) เช่น ไม้ดอกและพืชผักบางชนิด การเพาะโดยวิธีนี้ใช้กระบะขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 7 เซนติเมตร สำหรับขนาดของกระบะขึ้นกับความสะดวกในการขนย้าย ที่ก้นกระบะต้องมีช่องระบายน้ำ วัสดุที่ใช้เพาะควรเป็นส่วนผสมของทรายหยาบ ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมักเก่า ในอัตราส่วน 1:1:1 และต้องฆ่าเชื้อก่อนที่จะนำไปเพาะกล้า การเพาะกล้าในกระบะเพาะนี้มักจะโรยเมล็ดเป็นแถวให้ช่วงแถวห่างกันประมาณ 5 เซนติเมตร และกลบผิวหน้าดินบาง ๆ นอกจากการเพาะในกระบะนี้แล้วอาจเพาะในถ้วยกระดาษหรือกระทงก็ได้ วิธีนี้จะทำให้รากของต้นกล้าไม่กระทบกระเทือนเวลาย้ายลงปลูกในแปลงปลูก
    การเตรียมต้นกล้าก่อนการย้ายปลูก เป็นสิ่งจำเป็นทั้งนี้เพราะหลังจากเมล็ดเริ่มงอกขึ้นมาแล้วต้องมีการดูแลรักษาอย่างดี ต้องมีการรดน้ำให้พอเหมาะ โดยพิจารณาจากความชื้นของดินในแปลงเพาะ เพราะถ้ารดน้ำมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคได้ง่าย เมื่อต้นกล้าโตได้ขนาดแล้ว ก่อนที่จะย้ายปลูกต้องทำให้ต้นกล้าอยู่ในสภาพพร้อมที่จะย้ายปลูก ซึ่งเรียกว่าการทำ ให้ต้นกล้าแข็งแรง (hardening) ควรทำในระยะ 7-10 วันก่อนการย้ายปลูก โดยรดน้ำให้น้อยลงและให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดเต็มที่
    2) การย้ายปลูก
    โดยขนย้ายกล้ามายังแปลงปลูก สำหรับต้นกล้าที่ถอนจากแปลงเพาะพยายามอย่าให้ต้นกล้ากระทบกระเทือนมาก จากนั้นนำกล้าลงปลูกตามหลุมที่ได้เตรียมไว้ในแถวปลูก การปลูกเราจะใช้ช้อนปลูกขุดหลุมให้ลึกพอควร แล้วนำต้นกล้าลงปลูกไม่ควรให้ต้นกล้าอยู่ลึกหรือตื้นเกินไป จากนั้นเอาดินกลบโคนต้นกล้า ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางสอดไประหว่างโคนต้นกล้าแล้วกดดินที่โคนต้นกล้าให้แน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่มพอควร ปกติการย้ายปลูกต้นกล้าควรทำในตอนเย็นเพื่อลดปัญหาแสงแดดจัดในเวลากลางวัน และต้นกล้าจะตั้งตัวได้ในวันรุ่งขึ้น หากต้นกล้ายังเหี่ยวอยู่ควรหาวัสดุคลุมกันแสงแดดเพื่อช่วยให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้น
    
 การปลูกโดยใช้ส่วนเจริญของพืช
    เป็นการปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์ซึ่งมีตาข้างอย่างน้อย 2-3 ตา อาจจะเป็นส่วนซึ่งตัดมาจากลำต้นโดยตรง (stem cutting) ซึ่งนิยมทำกับอ้อยและมันสำปะหลัง หรือท่อนพันธุ์ที่นำไปปักชำแล้ว (rooted cutting)
    การปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์นี้ ควรเตรียมดินโดยไถเปิดร่องให้ห่างกันประมาณ 1.50 เมตร และให้ร่องลึกประมาณ 15-25 เซนติเมตร จากนั้นนำท่อนพันธุ์ปลูกในร่องซึ่งห่างกันประมาณ 1-1.50 เมตร การปลูกท่อน
พันธุ์ในร่องควรกระทำดังนี้
    1) ถ้าหากดินแห้งหรือมีความชื้นในดินน้อย ให้วางท่อนพันธุ์ขนานกับพื้นดิน และกลบดินเพียงเล็กน้อย การวางท่อนพันธุ์เช่นนี้ก็เพื่อให้ท่อนพันธุ์มีโอกาสใช้ความชุ่มชื้นในดินมากที่สุด
    2) ถ้าดินมีความชุ่มชื้นปานกลาง ให้ปักท่อนพันธุ์ทำมุม 45 องศากับระดับพื้นดิน
    3) ถ้าหากดินมีความชุ่มชื้นสูงหรือดินเปรี้ยว ให้ปักท่อนพันธุ์ทำมุม 90 องศากับระดับพื้นดิน เพื่อป้องกันท่อนพันธุ์เน่า

 ข้อพิจารณาในการเลือกวิธีการปลูก
    การปลูกทั้ง 3 วิธีที่กล่าวแล้ข้างต้น วิธีที่นิยมใช้กันมากคือ การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง เพราะทำได้ง่ายและประหยัดแรงงาน ซึ่งนิยมใช้กับการปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ รองลงมาคือการปลูกโดยวิธีย้ายกล้าปลูกใช้กับพืชที่ต้องมีการควบคุมสภาพแวดล้อมในช่วงแรกหลังจากงอกมาจากเมล็ด คือเป็นช่วงต้นกล้าที่ยังอ่อนแอ ส่วนการปลูกโดยใช้ส่วนเจริญของพืชนั้นใช้กับพืชที่ไม่สะดวกในการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เพราะติดเมล็ดได้ยากหรือติดเมล็ดได้น้อย หรือใช้วิธีขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนเจริญของพืชสะดวกกว่า เช่น อ้อยและมันสำปะหลัง เป็นต้น ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเหตุผลอย่างกว้างๆ การที่จะพิจารณาให้ละเอียดลงไปว่า พืชใดควรปลูกด้วยเมล็ดโดยตรงหรือปลูกโดยวิธีการย้ายกล้าปลูกมีข้อควรพิจารณาดังต่อไปนี้
    1) การเกิดรากใหม่ เนื่องจากระหว่างที่ทำการย้ายปลูกรากพืชจะขาดเสียหาย ทำให้พืชตั้งตัวได้ช้า พืชจะเจริญได้เป็นปกติเมื่อมีรากใหม่งอกขึ้นมาก พืชที่มีรากงอกขึ้นมาใหม่ได้ช้า ได้แก่ ข้าวโพด ถั่ว และแตงโม เป็นต้น เพราะมีสารซูเบอริน (suberin) เคลือบอยู่ในระยะที่มีการงอกและยับยั้งการเกิดรากใหม่ จึงมีการชะงักการเจริญเติบโต ซึ่งต่างกับพืชบางชนิด เช่น กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ที่ย้ายปลูกได้ดีเพราะมีรากงอกขึ้นมาใหม่ได้ง่าย สรุปคือว่าพืชใดที่งอกรากใหม่ได้ช้าควรปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง
    2) ระบบราก สำหรับพืชบางชนิดโดยเฉพาะพวกพืชหัว ที่ผลผลิตได้จากส่วนของรากแก้วที่ขยายตัวขึ้นเพื่อสะสมอาหาร เช่น ผักกาดหัว (chinese radish) และแครอท (carrot) เป็นต้น ซึ่งพืชพวกนี้จำเป็นต้องปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง เพราะถ้าปลูกโดยวิธีย้ายกล้าจะมีผลทำให้รากแก้วขาดเสียหาย ทำให้การลงหัวผิดปกติหรือไม่ลงหัว
    3) ขนาดของเมล็ด เมล็ดพืชบางชนิดมีขนาดเล็กมาก เช่น ยาสูบ ซึ่งมีอาหารสะสม อยู่ในเมล็ดน้อย ตลอดจนต้นกล้ามีขนาดเล็กมาก ดังนั้นในช่วงที่เป็นต้นกล้าอ่อนถ้าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมก็จะทำให้ต้นกล้าอ่อนแอต่อการถูกทำลายของโรคและแมลงได้ง่าย พืชพวกนี้จึงนิยมปลูกโดยวิธีย้ายกล้า เพราะต้องมีการดูแลรักษาอย่างดีในระยะที่เป็นต้นกล้า ต่างกับพืชที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ เช่น ข้าวโพด ถั่ว พืชพวกนี้มีอาหารสำรองในเมล็ดมากจึงใช้อาหารในการช่วยกระตุ้นในการงอกได้ดีกว่าต้นกล้าจึงแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าพืชพวกที่มีเมล็ดขนาดเล็ก
    4) แรงงานและต้นทุน เพราะการปลูกด้วยเมล็ดโดยตรงจะประหยัดแรงงานกว่า ส่วนการปลูกด้วยต้นกล้าต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าแรงงานในการเตรียมแปลงเพาะกล้า การดูแลรักษาต้นกล้า การขนย้ายกล้า และการปลูกต้นกล้า แต่ข้อเสียของการปลูกด้วยเมล็ดคือ ใช้ปริมาณเมล็ดมากกว่าการปลูกโดยวิธีย้ายกล้าประมาณ 3-4 เท่า ด้วยเหตุนี้การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีราคาแพง ควรปลูกด้วยวิธีย้ายกล้าเพราะจะช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ลงได้ แต่ต้องพิจารณาการเกิดรากใหม่ ระบบราก และขนาดเมล็ดประกอบด้วย




ที่มา: http://www.natres.psu.ac.th/Department/PlantScience/510-111web/book/book%20content.htm/chapter08/agri_08.htm




การหว่านเมล็ด


การเพาะย้ายกล้า




การหยอดหลุม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น